Header

หัวใจแข็งแรงมา ''ตรวจคัดกรองหัวใจ'' กันดีกว่า

blank โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ

ตรวจคัดกรองหัวใจ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรรภูมิ

ใครที่รู้สึกว่า "หัวใจ"  ไม่แข็งแรง รีบสังเกตตัวเองให้ไว แล้วมา "เช็คสุขภาพหัวใจ" กัน เพื่อตัวคุณเอง และคนที่คุณรัก เพราะ "โรคหัวใจ"  ไม่เลือกวัย  ไม่เลือกเพศ และไม่เลือกช่วงอายุ

ในอดีตเราอาจจะพบว่า โรคหัวใจส่วนมากจะพบในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันกลับพบว่า คนอายุน้อยหรือวัยกลางคน ก็มีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ

 

อาการของโรคหัวใจ

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในส่วนของหัวใจที่ต่างกัน ทำให้โรคหัวใจมีอาการต่างกันไปในแต่ละชนิด

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ มักส่งผลให้มีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก ร้าวไปตามกราม แขน ลำคอ ท้อง หรือบริเวณหลัง และบางครั้งอาจมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หรือหมดสติได้
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ อาจเต้นเร็วผิดปกติ ช้าผิดปกติ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ ทำให้รู้สึกใจสั่น แต่บางครั้งอาจแสดงอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก เวียนศีรษะ หรือคล้ายจะเป็นลมได้เช่นกัน
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจ ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์มักมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม และมีอาการมากขึ้นเมื่อต้องออกแรงหนัก ๆ ส่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจที่รุนแรงมากขึ้นจะทำให้มีอาการเหนื่อยแม้ขณะนั่งอยู่เฉย ๆ มีอาการบวมตามแขน ขา หนังตา ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย นอนราบไม่ได้ และตื่นขึ้นมาไอในเวลากลางคืน
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นโรคที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อทารกอยู่ในครรภ์มารดา โดยอาจแสดงอาการทันทีเมื่อแรกคลอด หรือแสดงอาการมากขึ้นในภายหลังก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือกลุ่มที่มีอาการเขียวและกลุ่มไม่มีอาการเขียว ในกลุ่มที่มีอาการยังไม่รุนแรงมากอาจสังเกตได้ในภายหลัง เช่น เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกายหรือทำกิจกรรม เมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน แต่ในกลุ่มที่มีอาการมากจะทำให้เลี้ยงไม่โต ทารกมีอาการเหนื่อย ขณะให้นมหรือติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย ๆ เป็นต้น
  • โรคลิ้นหัวใจ อาการของโรคขึ้นอยู่กับความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เกิดขึ้น ในกลุ่มที่มีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ หรืออาจได้ยินเสียงผิดปกติจากการตรวจร่างกายเท่านั้น แต่หากมีความผิดปกติของลิ้นหัวใจมากก็จะมีอาการเหนื่อยง่าย และเกิดภาวะหัวใจวายหรือน้ำท่วมปอดได้        
  • โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ อาการที่แสดงถึงโรคนี้ ได้แก่ มีไข้ โดยมักจะเป็นไข้เรื้อรัง อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจหอบเหนื่อย ไอเรื้อรังแห้ง ๆ ขาหรือช่องท้องบวม รวมถึงมีผื่น หรือจุดขึ้นตามผิวหนัง

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ

ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดโรคหัวใจ เช่น ความเครียด ทำงานหนัก พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดี พักผ่อนน้อย รับประทานอาหารที่มีความเสี่ยงสูง สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน

หรือมีโรคประจำตัวต่าง ๆ ประเภทความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะเป็นสาเหตุของ “โรคหัวใจ” ที่พบมากขึ้นในขณะนี้

 

สาเหตุของโรคหัวใจ

เช่นเดียวกันกับอาการ สาเหตุของโรคหัวใจแต่ละชนิดมีที่มาต่างกัน ดังนี้

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ สาเหตุส่วนมากเกิดจากไขมัน หรือแคลเซียมที่สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหลอดเลือดจนขัดขวางทางเดินเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมักมีสาเหตุมาจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในหลอดเลือดสูง น้ำหนักเกิน และสูบบุหรี่
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางรายที่เดิมมีความผิดปกติของหัวใจอยู่แล้ว หรือเกิดกับคนทั่วไปที่มีหัวใจปกติก็ได้ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการถูกไฟฟ้าช็อต การใช้สารเสพติด ยา อาหารเสริมบางชนิด รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน นอกจากนี้อาจเป็นความเสี่ยงจากอาการเจ็บป่วยโรคหัวใจอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ หรือโรคอื่น ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจ มีสาเหตุต่างกันไปตามความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม อาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดสู่หัวใจน้อยลง การได้รับยา หรือสารพิษบางชนิด การติดเชื้อ และพันธุกรรม ส่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนามักเป็นผลจากพันธุกรรม และอายุที่มากขึ้น และโรคกล้ามเนื้อหัวใจถูกบีบรัด ที่กล้ามเนื้อหัวใจแข็ง และยืดหยุ่นน้อยลง อาจเป็นผลมาจากโรคอื่น เช่น เนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิดปกติ ภาวะธาตุเหล็กมากเกิน หรือการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัด เป็นต้น
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด อาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ของมารดาที่ทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด การใช้ยา หรือสารเสพติดบางชนิดขณะตั้งครรภ์ การติดเชื้อของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ รวมทั้งอาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมก็ได้
  • โรคลิ้นหัวใจ สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือทำงานบกพร่องมาแต่กำเนิด หรือเป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคอื่น ๆ เช่น ไข้รูมาติก เยื่อบุหัวใจอักเสบ หรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิดปกติ
  • โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิต รวมทั้งการทำหัตถการทางการแพทย์ การใช้สารเสพติด และมีการเหนี่ยวนำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณหัวใจตามมา

 

สัญญาณเตือนของโรคหัวใจ

  • เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย (อาจจะพบในเวลาออกกำลังกาย)
  • ปวดคอ ปวดหลังด้านบน ปวดแขนด้านซ้าย
  • ขาบวม บริเวณหน้าแข้งหรือปลายเท้า 2 ข้าง
  • มีอาการร้าวด้านซ้าย ขึ้นกรามด้านซ้าย ร้าวถึงท้องแขนด้านซ้าย
  • เหงื่อแตก ใจสั่น หายใจอึดอัด
  • รู้สึกหัวใจเต้นเร็ว รัว ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หน้ามืดบ่อย ๆ และวูบหมดสติ (ไม่รู้สึกตัวกะทันหัน)
  • นอนราบไม่ได้ หายใจติดขัด
  • จุก แน่นท้อง คล้ายอาหารไม่ย่อย

ท่านใดที่มีปัจจัยเสี่ยง และสัญญาณเตือนเหล่านี้ ควรไปตรวจเช็คหัวใจ ด้วยการตรวจคัดกรองและพบแพทย์ด้านหัวใจ เพื่อช่วยค้นหาความผิดปกติ และประเมินว่า ควรได้รับการดูแลรักษา หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไรให้เหมาะสม

 

การตรวจคัดกรองโรคหัวใจ

  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย หรือ วิ่งสายพาน “ EST” (Exercise Stress Test)

คือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย ด้วยการวิ่งสายพาน

เพื่อให้แพทย์ตรวจการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ และตรวจสอบว่า ขณะที่ร่างกายต้องออกแรง กล้ามเนื้อหัวใจมีการขาดเลือดหรือไม่ จากภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในเบื้องต้น

โดยแพทย์จะสังเกตการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ (Arrhythmia) และการขาดเลือดของหัวใจ

รวมถึงอาการแสดงอื่น ๆ ที่ปรากฏ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก
 

  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือ ตรวจเอคโค่หัวใจ “ECHO” (Echocardiogram)

คือ การใช้คลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงและแปลเป็นภาพ แพทย์จะเห็นทั้งรูปร่าง และขนาดของหัวใจ รวมถึงการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่

โดยแพทย์จะสอบถามอาการเบื้องต้น สำหรับวิธีนี้แพทย์จะใช้ประเมินการตรวจคัดกรองสำหรับผู้ที่มีอาการหอบ เหนื่อย บวม ที่สงสัยว่าอาจเกิดจากโรคหัวใจ หรือคนทั่วไปที่มีความเสี่ยง เพื่อดูการเคลื่อนไหวของหัวใจ การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ รูปร่างและความหนาของหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ ว่ามีลักษณะตีบหรือรั่วหรือไม่ เช็คภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ หัวใจโต  หัวใจพิการแต่กำเนิด เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาต่อ
 

  • การฉีดสีเพื่อตรวจหลอดเลือดหัวใจ “CTA Coronary / Cardiac Artery” (Coronary Computed Tomographic Angiography)

คือ การฉีดสีเพื่อตรวจหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง เพื่อค้นหาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ เช็คระดับความรุนแรงของการตีบของหลอดเลือด ที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ หรือใช้ติดตามผลการรักษา คัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง

สำหรับวิธีนี้เป็นการเตรียมผู้ป่วย ที่มีปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ ก่อนทำการผ่าตัด หรือทำหัตถการใหญ่ ๆ และหลังจากการตรวจ แพทย์ด้านหัวใจ จะได้วางแผนการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม หากพบความผิดปกติ อาจจะปรับการใช้ยา ปรับพฤติกรรมคนไข้ หรือแนะนำฉีดสีสวนหัวใจ ในการทำหัตถการอื่น ๆ ต่อไป

ดังนั้นถ้าหากคุณ หรือคนใกล้ตัวที่คุณรัก ลองสังเกตอาการตัวเองว่ามีอาการดังกล่าวข้างต้นที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจหรือไม่ อย่าปล่อยไว้ให้อาการรุนแรง

แนะนำว่า ควรรีบไปพบแพทย์โรคหัวใจ เพื่อช่วยประเมินและคัดกรอง ความเสี่ยง ในการรักษาอย่างต่อเนื่องอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันภาวะหัวใจวาย ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

 

สัญญาณอันตรายควรรีบพบแพทย์โรคหัวใจ!

  • เจ็บตรงกลางหน้าอก แน่นหน้าอก เยื้องลงมาทางลิ้นปี่เล็กน้อย
  • จุกแน่น อึดอัด บางทีร้าวไปถึงคอหอย
  • เจ็บไหล่ซ้าย ข้อศอก หรือท้องแขนซ้าย กรามหรือคอด้านซ้าย
  • อาการใจหวิว ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ
  • เหงื่อซึม หน้ามืดคล้ายจะหมดสติ หรือ เป็นลมหมดสติอยู่บ่อย ๆ
  • เหนื่อยหอบ จนตัวโยน
  • เหนื่อย ตอนที่ออกกำลังกาย
  • ขา หรือเท้าบวม
  • ปลายนิ้วมือ ปลายนิ้วเท้า และริมฝีปากมีสีเขียวคล้ำ

หากพบอาการผิดปกติดังกล่าว ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

 

ภาวะแทรกซ้อนจากการเกิดโรคหัวใจ

โรคหัวใจชนิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็อาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง เช่น

  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจจะทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ อาจตามมาด้วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
  • โรคหลอดเลือดในสมองขาดเลือด อาจตามมาด้วยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ และโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง และท้ายที่สุด อาจจะนำมีซึ่งโรคหัวใจล้มเหลว ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

เมื่อเรารู้แบบนี้แล้ว การดูแลตัวเองและหมั่นสังเกตความผิดปกติของตัวเองจึงเป็นสิ่งที่จะละเลยไม่ได้ เราควรแบ่งเวลาการทำงาน พักผ่อน  หมั่นออกกำลังกาย ลดความเครียด ปล่อยวางภาระงาน และเวลาพักผ่อนส่วนตัว เพื่อให้หัวใจได้พัก และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงงดพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำร้ายหัวใจ เช่น การสูบบุหรี่ ลดอาหารไขมันสูง และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อคัดกรองความเสี่ยง เพียงเท่านี้ “คุณ” ก็จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจเบื้องต้น

 

การรักษาโรคหัวใจ

การรักษาโรคหัวใจจะรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ และรักษาตามอาการที่ผู้ป่วยเป็นในขณะนั้น เช่น การทำหัตถการสวนหัวใจ การผ่าตัดหัวใจ ร่วมกับการใช้ยารักษา รวมถึงการให้คำแนะนำในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ ความเครียด และเพิ่มการออกกำลังกาย การปรับพฤติกรรมการบริโภคโดยแนะนำให้ลดอาการเค็ม อาหารหวาน และอาหารที่มีไขมันสูง

โรคหัวใจเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกันไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การไม่ดูแลสุขภาพร่างกาย หรือการเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมมา จึงต้องหมั่นสังเกตอาการตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่ามีอาการเจ็บ หรือแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม อาการเหล่านี้แสดงออกจากการเป็นโรคหัวใจหรือไม่ และต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ ความเครียด จะต้องพฤติกรรมการบริโภค และออกกำลังกายให้มากขึ้นเพื่อจะได้ห่างไกลจากโรคหัวใจนะคะ

 

บทความโดย : โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ

หากคุณต้องการนัดหมายแพทย์ เพื่อทำการปรึกษา

สามารถติดต่อสอบถามเราได้

Call Center 02-080-5999 หรือ LINE : @psuv



ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ

ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด

สถานที่

อาคาร A ชั้น 2

เวลาทำการ

จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 -15.00

เบอร์ติดต่อ

02 080 5999 ต่อ 4601 หรือ 092 131 6465

แพทย์แนะนำ

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

พญ.กิติยา จันทรวิถี

พญ.กิติยา จันทรวิถี

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ. ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ศัลยเเพทย์ออร์ปิดิกส์

บทความที่เกี่ยวข้อง

อยู่ดีๆ ก็ใจสั่น อาการเสี่ยงของหัวใจเต้นผิดจังหวะ

คือความรู้สึกเหมือนหัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นช้าหรือเร็วเกินไป เมื่อมีอาการจะเกิดขึ้นไม่นานหัวใจก็จะกลับมาเต้นเป็นปกติเหมือนเดิม และไม่อันตราย แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้ง นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของบางโรคได้ โดยเฉพาะภาวะแทรกซ้อนของอาการใจสั่น ที่เกิดจากความผิดปกติของหัวใจ

นพ. ชูศักดิ์ หล่อจิตต์เสียง | ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด นพ. ชูศักดิ์ หล่อจิตต์เสียง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
อยู่ดีๆ ก็ใจสั่น อาการเสี่ยงของหัวใจเต้นผิดจังหวะ

คือความรู้สึกเหมือนหัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นช้าหรือเร็วเกินไป เมื่อมีอาการจะเกิดขึ้นไม่นานหัวใจก็จะกลับมาเต้นเป็นปกติเหมือนเดิม และไม่อันตราย แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้ง นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของบางโรคได้ โดยเฉพาะภาวะแทรกซ้อนของอาการใจสั่น ที่เกิดจากความผิดปกติของหัวใจ

นพ. ชูศักดิ์ หล่อจิตต์เสียง | ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด นพ. ชูศักดิ์ หล่อจิตต์เสียง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัว

การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัว Holter Monitoring เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็ก

blank บทความโดย : ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัว

การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัว Holter Monitoring เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็ก

blank บทความโดย : ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
ดูแลหัวใจอย่างไร ให้ไกลโรค

โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ” เป็นหนึ่งในโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย สมัยก่อนเราอาจจะคิดว่า “โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ” เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้สูงวัยเท่านั้น

นพ.ลิขิต กำธรวิจิตรกุล โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ นพ.ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
ดูแลหัวใจอย่างไร ให้ไกลโรค

โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ” เป็นหนึ่งในโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย สมัยก่อนเราอาจจะคิดว่า “โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ” เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้สูงวัยเท่านั้น

นพ.ลิขิต กำธรวิจิตรกุล โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ นพ.ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม