Header

ค้นหาความเสี่ยง มะเร็งปากมดลูก แบบไหนดี

นพ.นพเมศฐ์ ศรีจารุสิทธิ์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ นพ.นพเมศฐ์ ศรีจารุสิทธิ์

ผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกมากอันดับที่ 3 (11.1%) รองจากมะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แต่ละปีจะมีผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกประมาณ 6,000 – 8,000 คน และเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 8-10 คน(ข้อมูลจาก HOSPITAL-BASED CANCER REGISTRY 2020 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ) ส่วนใหญ่มักพบในช่วงอายุระหว่าง 35 – 50 ปี

มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งชนิดเดียวทางนรีเวช ที่สามารถตรวจคัดกรองพบจะป้องกันและรักษาให้หายได้ โดยตรวจภายในเป็นประจำ และปัจจุบันยังสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งเชิงลึกแบบ HPV DNA เพื่อหาเชื้อต้นเหตุก่อโรคของมะเร็งปากมดลูก อีกทั้งยังมี วัคซีน HPV ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อก่อโรคมะเร็งปากมดลูกอีกด้วย

ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก ตั้งแต่เรามีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และเกือบ 100% ของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อ HPV เพราะเป็นเชื้อที่ติดง่าย นอกจากเพศสัมพันธ์แล้ว ยังสามารถติดต่อทางการสัมผัสได้ด้วย (แต่จะเป็นลักษณะเหมือนพาหะที่นำพาเชื้อไปสู่ช่องคลอดได้) แต่พอติดเชื้อแล้วกลับไม่มีอาการ ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่มีบาดแผลอะไรเกิดขึ้น แต่เกิดความผิดปกติระดับเซลล์ ซึ่งใช้เวลานานหลายปี ก่อนกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก

เนื่องจากมะเร็งปากมดลูก ในปัจจุบันมีวิธีการป้องกัน และสามารถตรวจคัดกรองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกนโยบายและเป้าหมายเพื่อกำจัดโรค ลดปริมาณผู้ป่วยรายใหม่ ดังนี้

1) 90% ของประชากรเด็กหญิงอายุ 15 ปี ควรได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

2) 70%ของประชากรหญิง อายุ 30 ปี ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการตรวจที่มีคุณภาพและ

3) 90%ของหญิงที่ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นรอยโรคมะเร็งปากมดลูก และระยะก่อนมะเร็ง ได้เข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม

สัญญาณเตือน อาการมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก ***มักไม่แสดงอาการในระยะแรก *** หรือ อาจมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น

  • มีตกขาวมากกว่าปกติ หรือตกขาวมีเลือดปน
  • เลือดออกจากช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ เลือดออกหลังจากหมดประจำเดือน
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์

 

หากมะเร็งเกิดการลุกลามแล้ว อาจมีอาการต่างๆชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น

  • ปวดท้องน้อย ปวดหน่วงบริเวณหัวหน่าว
  • ปัสสาวะ/อุจจาระปนเลือด
  • ปัสสาวะไม่ค่อยออก ปวดบวม
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • ปวดหลัง ขาบวม ไตวาย (กรณีที่มะเร็งมีระยะลุกลามมาก)

 

ค้นหาความเสี่ยง ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แบบไหนดี?

การตรวจภายใน ไม่สามารถพบก้อนมะเร็งปากมดลูกชัดเจน ต้องตรวจยืนยันโดยการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

  • การตรวจแพปสเมียร์ (Pep Smear) เป็นการตรวจทางเซลล์วิทยา สามารถตรวจพบเซลล์มะเร็ง ซึ่งต้องทำการสืบค้นต่อ โดยการตรวจภายใน และตรวจด้วยกล้องขยาย เพื่อ ตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
  • การตรวจด้วยวิธี (Thin Prep) เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยเก็บตัวอย่างเซลล์ด้วยของเหลว สามารถเก็บตัวอย่างเซลล์ได้มากกว่า และนำไปตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ต่อได้โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างซ้ำ
  • การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ด้วยวิธีการตรวจ DNA แบ่งเป็นการตรวจร่วมกับการตรวจทางเซลล์วิทยา และการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV เพียงอย่างเดียว วิธีการตรวจนี้สามารถระบุสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสได้ และสามารถค้นพบรอยโรคได้เร็ว
  • การตรวจด้วยกล้องขยาย (Colposcope) ตรวจร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา โดยแพทย์มะเร็งวิทยานรีเวช
  • การตรวจวิธีอื่น ๆ ที่อาจช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก โดยแพทย์มะเร็งวิทยานรีเวช

– การขูดภายในปากมดลูก

– การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า

– การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวยด้วยมีด

 

มะเร็งปากมดลูก มีกี่ระยะ

ระยะของโรคมะเร็งปากมดลูก แบ่งออกเป็น ระยะก่อนมะเร็ง มะเร็งระยะเริ่มต้น และมะเร็งระยะลุกลาม

ระยะก่อนมะเร็ง ระยะนี้เซลล์มะเร็งยังอยู่ภายใต้ชั้นเยื่อบุผิวปากมดลูก ไม่ลุกลามเข้าไปในเนื้อปากมดลูก ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติเลย ตรวจพบได้ด้วยการตรวจคัดกรองทางเซลล์วิทยา หรือ ตรวจแพปสเมียร์ (Pap Smear)

มะเร็งปากมดลูก แบ่งออกเป็น 4 ระยะย่อย คือ

  • ระยะที่ 1 มะเร็งระยะเริ่มต้น รอยโรคอยู่ภายในปากมดลูกเท่านั้น
  • ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามไปที่เนื้อเยื่อข้างปากมดลูก และ (หรือ) ผนังช่องคลอดส่วนบน
  • ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามไปที่ด้านข้างของเชิงกราน และ (หรือ) ผนังช่องคลอดส่วนล่าง หรือกดท่อไตจนเกิดภาวะไตบวมน้ำ
  • ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามไปที่กระเพาะปัสสาวะ ไส้ตรง หรืออวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด กระดูก และต่อมน้ำเหลืองนอกเชิงกราน เป็นต้น

 มะเร็งปากมดลูก รักษาอย่างไร

ระยะก่อนมะเร็ง รักษาได้หลายวิธี ได้แก่

การตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด โดยการตรวจภายใน ตรวจแพปสเมียร์ (Pep Smear) และการตรวจด้วยกล้องขยาย (Colposcope) ทุก 4 – 6 เดือน รอยโรคบางชนิดสามารถหายไปได้เองใน 1 – 2 ปี

การจี้ปากมดลูกด้วยความเย็น

การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวยด้วยห่วงลวดไฟฟ้า หรือมีด

ระยะลุกลาม การเลือกวิธีในการรักษาขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวของผู้ป่วย และระยะของมะเร็ง

  • ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 บางราย รักษาโดยการตัดมดลูกออกแบบกว้าง ร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองเชิงกรานออก
  • ระยะที่ 2 ถึงระยะที่ 4 รักษาโดยการฉายรังสีร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด

 

การป้องกัน มะเร็งปากมดลูก

หนึ่งในวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี (HPV)  ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สามารถตรวจคัดกรองได้โดย    แพปสเมียร์ (Pap Smear) และการตรวจหาเชื้อ HPV

วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ในการฉีดวัคซีนจะต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และจะต้องฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 – 2 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรก 6 เดือน

วัคซีนนี้จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อฉีดให้กับเด็กผู้หญิงถึงวัยเจริญพันธุ์ (9 – 26ปี) หรือสตรีที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ และหากเป็นสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว วัคซีนจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกับผู้ที่ยังไม่มีการติดเชื้อ HPV หรือไม่มีเซลล์ผิดปกติ

 

 

ศูนย์การแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ

ศูนย์ผ่าตัดมะเร็ง

สถานที่

เวลาทำการ

เบอร์ติดต่อ

แผนกสุขภาพสตรี

สถานที่

อาคาร A ชั้น 2

เวลาทำการ

จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 -20.00

เบอร์ติดต่อ

02 080 5999 ต่อ 4204

แพทย์แนะนำ

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

พญ.กิติยา จันทรวิถี

พญ.กิติยา จันทรวิถี

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ. ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ศัลยเเพทย์ออร์ปิดิกส์