Header

โรคซึมเศร้า ยุค COVID ใกล้ตัวกว่าที่คิด

blank บทความโดย : กรมสุขภาพจิต (Department of Mental Health)

“กรมสุขภาพจิตเผยช่วงวิกฤติโควิด-19 เด็กไวรุ่นไทยกว่า 32 % เสี่ยงโรคซึมเศร้าและ 22 % เสี่ยงฆ่าตัวตาย ยูนิเซฟระบุว่า 1 ใน 7 คนทั่วโลก มีความป่วยทางจิตที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ ขณะที่เด็กอีกมากกว่า 1,600 ล้านคนต้องเผชิญกับการเรียนรู้ที่หยุดชะงักลง”

โรคซึมเศร้า เป็นโรคจิตเวชชนิดหนึ่ง ซึ่งพบได้บ่อยมาก มีการประมาณการว่า ในประชากรทุก ๆ 10 คน จะมี 1 คนเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งโรคซึมเศร้า ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของการทำงาน การเรียน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมไปถึงการดูแลตนเอง

 

โรคซึมเศร้าคืออะไร?

โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสมองในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย แต่ที่คนส่วนใหญ่รู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าก็มักจะนึกถึงเพียงอาการ หรือสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไป จึงคิดว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดหวัง หรือการได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ และจะสามารถรักษา หรือแก้ไขได้ด้วยการให้กำลังใจ ซึ่งในความจริงแล้ว โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ เพราะนอกจากจะต้องบำบัดอย่างถูกวิธีแล้ว ยังอาจจะต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย

สังเกตอย่างไรว่าเข้าข่าย “โรคซึมเศร้า”

การสังเกตตัวเอง หรือคนรอบข้างว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหรือไม่ สามารถตรวจจากข้อสำรวจง่าย ๆ 9 ข้อนี้ ซึ่งข้อสำรวจนี้ก็ คือ เกณฑ์ที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า หากมีอาการ 5 ข้อขึ้นไป โดยต้องมีข้อ 1.) และ/หรือข้อ 2.) อยู่ด้วย หากอาการ 5 ใน 9 ข้อดังกล่าวเป็นยาวนานติดต่อกันเกินกว่า 2 สัปดาห์ ก็เข้าข่ายเสี่ยง ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อวิเคราะห์ และหาแนวทางแก้ไขหรือรักษาต่อไป

  1. มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิด มักมีความคิดด้านลบ รู้สึกสิ้นหวัง รู้สึกเศร้า เบื่อ ท้อแท้ หรือหงุดหงิดง่ายอย่างต่อเนื่อง
  2. มีการเปลี่ยนแปลงทางการเรียนรู้หรือการทำงาน เลิกสนใจสิ่งที่เคยชอบมาก ๆ หรือไม่อยากทำสิ่งที่เคยชอบทำ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม
  3. พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป กินมากไป กินน้อยไป จนทำให้น้ำหนักขึ้น หรือลงผิดปกติ
  4. จากที่เคยหลับง่ายก็หลับยากขึ้น หรือไม่ก็นอนมากเกินไป
  5. มีอาการกระวนกระวาย โกรธง่าย หรือเฉื่อยชาที่แสดงออกให้เห็นชัด
  6. รู้สึกหมดเรี่ยวแรง ไม่มีพลัง ไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรเลย
  7. รู้สึกไร้ค่า หรือรู้สึกผิด โทษตัวเองในทุก ๆ เรื่อง
  8. ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ มีปัญหาเรื่องการคิด หรือตัดสินใจ
  9. คิดถึงความตาย หรืออยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตายบ่อย ๆ

 

การรักษาโรคซึมเศร้า

การรักษาหลัก คือ การพูดคุยให้คำปรึกษา การทำจิตบำบัด รวมถึงการใช้ยาในกลุ่มแก้ซึมเศร้าหากมีความจำเป็น โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้นจนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ และยิ่งมารับการรักษาเร็วเท่าไหร่ อาการก็จะดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้รักษายากยิ่งขึ้น

ทำอย่างไรจึงห่างไกลโรคซึมเศร้า ?

  • หมั่นดูแลตนเองให้มีสุขภาพดี ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารถูกสุขลักษณะ ไม่ใช้สารเสพติด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง
  • ในด้านจิตใจ ฝึกให้เป็นคนคิดบวก มองโลกในแง่ดี ไม่คิดร้ายกับใคร ไม่กล่าวโทษตัวเองไปซะทุกเรื่อง ควรหางานอดิเรก คลายเครียด เข้าชมรมต่าง ๆ ที่เหมาะกับวัย หรือเป็นจิตอาสา ทําสิ่งที่ทำให้รู้สึกตัวเองมั่นใจ มีคุณค่า รู้ว่าใครรัก และเป็นห่วงก็ให้อยู่ใกล้คน ๆ นั้น และให้อยู่ห่างจากคนที่ไม่ถูกใจ
  • ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ควรหาเวลาออกไปทำกิจกรรมที่สนุกสนาน ไม่เคร่งเครียด หรือทำงานหนักเกินไป ไม่ไปอยู่ในสถานการณ์ หรือดูข่าวร้ายที่ทำให้จิตใจหดหู่ หากมีการใช้ยาเพื่อรักษาโรคใด ๆ อยู่ไม่ควรหยุดยาเอง โดยเฉพาะถ้ารักษาโรคด้านจิตเวชอยู่ควรกินยาตามแพทย์สั่ง อย่าได้ขาด หรือหยุดยาเอง

 

การรักษาโรคซึมเศร้า เป็นการรักษาที่ต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน หากเริ่มรู้สึกว่าชีวิตของตนเองไม่ปกติ ขาดความสมดุล มีความเครียดสูง การพบจิตแพทย์ก็เหมือนกับการตรวจสุขภาพใจ ให้เราเข้าใจสภาพจิตใจของตนเอง แพทย์จะแนะนำวิธีป้องกัน และปรับสภาพจิตใจให้ดีขึ้นด้วยการปรับวิธีคิด หรือรักษาด้วยการใช้ยา เพราะปัญหาทางด้านจิตใจ หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนั้น ไม่ใช่มีสาเหตุจากโรคซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว การพบจิตแพทย์จะช่วยให้เราได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี



แพทย์แนะนำ

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

พญ.กิติยา จันทรวิถี

พญ.กิติยา จันทรวิถี

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ. ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ศัลยเเพทย์ออร์ปิดิกส์