อาการแบบนี้ ใช่ Long COVID หรือไม่

หลายคนที่ป่วยเป็นโควิด และหลังจากนั้นมีอาการต่าง ๆ ตามมา คงกำลังตั้งข้อสังเกตอยู่ว่า อาการที่เป็นอยู่นั้นใช่อาการ Long Covid (Post COVID syndrome) หรือไม่ สำหรับบทความนี้ จึงนำเสนอภาวะลองโควิด Long Covid (Post COVID syndrome) เพื่อการดูแลตัวเองให้แข็งแรงอย่างถูกต้อง
อาการ Long Covid (Post COVID syndrome)
ลองโควิด เป็นอาการหรือกลุ่มอาการผิดปกติใด ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ หรือต่อเนื่องภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนมากตั้งแต่ 3 เดือน นับจากวันตรวจพบเชื้อ และ มีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน โดยอาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้หลายระบบ และอาการที่เกิดขึ้นไม่สามารถ อธิบายได้ด้วยการวินิจฉัยสาเหตุอื่น ๆ
อาการ ลองโควิด เป็นอย่างไร ?
หากคุณลองสังเกตตัวเองว่า มีอาการดังนี้ เช่น
- ปวดศีรษะ, มึนศีรษะ, นอนไม่หลับ, ความจำสั้นลง
อารมณ์วิตกกังวล, ซึมเศร้า, แพนิกกำเริบ
รู้สึกใจสั่น, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, เจ็บแน่นหน้าอก
ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง, อ่อนเพลีย
กล้ามเนื้ออ่อนแรงทั่วๆ ร่างกาย
ผื่นคัน, ผื่นแพ้, ผมร่วง, หายใจไม่อิ่ม, หายใจลำบาก
ไอเรื้อรัง, ลิ่มเลือดอุดตันตามเส้นเลือดดำ
ท้องเสีย, ถ่ายเหลว, การย่อยอาหารแปรปรวน
การทำงานของไตผิดปกติ
ระดับการคุมน้ำตาลในเลือดผิดปกติ

หรืออาการอื่น ๆ นอกจากนี้ ควรไปพบแพทย์ตรวจรักษาอาการอย่างละเอียด เพื่อเช็คความพร้อมของร่างกายให้สมบูรณ์ หลังจากหายจากโควิด-19 และภาวะลองโควิด Long Covid (Post COVID syndrome) ซึ่งแพทย์จะตรวจรักษาอาการทั้งการตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การตรวจร่างกาย เพื่อประเมินความสมบูรณ์ของร่างกาย ได้แก่
ตรวจวัดสัญญานชีพ ได้แก่ อุณหภูมิ ชีพจร ความดันโลหิต ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด
ตรวจร่างกายตามระบบ สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วยโดยละเอียด เพื่อการวินิจฉัยติดตาม
ตรวจสมรรถภาพร่างกายตามความจำเป็น เช่น
Six-minute walk test
Sit to stand test
Pulmonary function test
Sleep test
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อการวินิจฉัยลงลึกในรายละเอียด ได้แก่
ความสมบูรณ์ของเลือด หรือ complete blood count (CBC)
ระดับเกลือแร่ในร่างกาย Electrolyte
ค่าการทำงานของไต BUN, creatinine
ค่าการทำงานของตับ Liver function test
ค่าการทำงานของฮอร์โมนต่างๆ เช่น Thyroid function test, DHEAs
ค่าระดับน้ำตาลในเลือด FBS
ค่าระดับการอักเสบในร่างกาย pro-inflammatory biomarkers เช่น CRP, D-dimer
การตรวจปัสสาวะ
การถ่ายภาพรังสีปอด
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
การตรวจการนอนหลับ Sleep test
ไม่แนะนำส่งตรวจ RT-PCR ซ้้าในระยะ 3 เดือนแรก (เพราะอาจพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสในสารคัดหลั่ง ทำให้ผลเป็นบวกลวงได้)
ซึ่งแพทย์จะช่วยตรวจวินิจฉัย และประเมินผลการตรวจโดยละเอียด หากยังมีอาการภาวะลองโควิด Long Covid (Post COVID syndrome) ก็จะทำการรักษาต่อไป
การรักษา อาการ ลองโควิด ยกตัวอย่างเช่น
การรักษาตามอาการ
- อาการไอเรื้อรัง แพทย์จะให้รับประทานยาแก้ไอ ตามความจำเป็น, ยาละลายเสมหะ Acetylcystein เพื่อลดเสมหะ, ยาพ่นในลำคอ เพื่อรักษาและบรรเทาอาการไอให้ดีขึ้นตามลำดับ
- การได้กลิ่นหรือการรับรสลดลง แพทย์จะให้ฝึกการรับรส และการดมกลิ่นบ่อย ๆ โดยให้ค่อยๆเริ่มรับรสอาหาร หรือกลิ่นอาหารอ่อนๆ แต่ค่อยๆใช้เวลาในการเรียนรู้ เพื่อการกระตุ้นให้ฟิ้นตัวเร็วขึ้น แต่ห้ามดมกลิ่นที่ฉุน เช่น Ammonia หรือการรับประทานอาหารที่มีกลิ่นฉุน หรือรสชาติเผ็ดมากๆ
ฟื้นฟูระบบต่าง ๆ ของร่างกาย
อาหารเหมาะสม แนะนำให้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และมีประโยชน์เพื่อบำรุงร่างกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารและวิตามินที่ดี เพื่อเสริมสร้างและฟื้นฟูส่วนที่สึกเหรอของร่างกายให้กลับคืนมาแข็งแรง
อารมณ์แจ่มใส จิตที่แจ่มใส ย่อมส่งผลให้ร่างกายแข็งแรงตามไปด้วย ดังนั้นผู้ที่หายจากการป่วยโควิด ควรมีกำลังใจที่ดี หลังจากที่ผ่านพ้นช่วงอาการโควิดแล้ว ก็ไม่ควรกังวลกับอาการที่ตนเคยป่วยมากจนเกินไป และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ เพื่อการทำงานและใช้ชีวิตเหมือนเดิม หากกังวลมากเกี่ยวกับอาการลองโควิด ให้ไปโรงพยาบาล เพื่อรับคำปรึกษาจากแพทย์ ทั้งเรื่องของตัวโรคและภาวะจิตใจ
ออกกำลังกายพอเหมาะ ผู้ที่หายจากอาการป่วยของโควิดแล้ว ควรเริ่มออกกำลังกายเบา ๆ เริ่มขยับกล้ามเนื้อ ค่อยเดินเบา ๆ ฝึกการหายใจ เพื่อบริหารปอดให้กลับมาฟื้นตัวจากอาการป่วย
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับสนิท จะช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในขณะหลับ ดังนั้นการนอนหลับให้เพียงพอถือเป็นการได้พักผ่อนร่างกายอย่างแท้จริง ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเรื่องการนอน หลับไม่สนิท หรือรู้สึกเพลียเมื่อตื่นนอน ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการนอนให้กลับมาเป็นปกติ ไม่ให้ยิ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปในระยะยาว
ถ้ารู้สึกรุม ๆ ให้วัดไข้ก่อนว่ามีไข้จริงไหม ? ผู้ป่วยหลายคนมาพบแพทย์เพราะรู้สึกว่าตัวเองเหมือนมีไข้รุมๆ แพทย์ขอแนะนำให้ลองใช้ปรอทวัดไข้เพื่อเช็คอาการไข้ในเบื้องต้น หากถ้ามีไข้จริงต้องพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายถ้าอาการไข้ไม่จริง ให้ค่อยๆออกกำลังกายทุกวันร่างกายจะค่อยๆดีขึ้น ประมาณสัปดาห์ถึงเดือน หากยังไม่ดีขึ้นจริงๆให้กลับไปพบแพทย์
กรณีหายจากโควิดแล้ว ควรตรวจสุขภาพเป็นระยะหลังรักษาโควิดหาย หรือตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจเช็คสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ