หนาวทีไร ไข้หวัดใหญ่ ถามหา

จะหวัดใหญ่…หวัดเล็ก ก็เป็นกันได้ทุกฤดู เมื่อไปเที่ยว เดินทาง พักผ่อนน้อย สัมผัสอากาศเปลี่ยน หรือติดเชื้อจากคนใกล้ตัว เมื่อไข้หวัดใหญ่มาเยือน…เราจะมีวิธีสังเกตอาการ และดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับตัวเอง … ลองมาติดตามข้อมูลดีๆจากบทความนี้ดูนะคะ
ไข้หวัดใหญ่…เกิดจากอะไร?
ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ก่อให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งอาการจะคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป
ไข้หวัดใหญ่ สามารถติดต่อได้ดังนี้
- โดยการหายใจ เอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยเข้าไป
- โดยการสัมผัส ทางมือ หรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ร่วมกับผู้ป่วย
อาการไข้หวัดใหญ่ มักจะมีอาการที่รุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดา
อาการที่สังเกตได้ชัดเจน คือ
- มีไข้สูง และไข้สูงติดกันหลายวัน
- ทานยาลดไข้แล้ว ไข้ยังสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียสอยู่ต่อเนื่อง
- หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก ซึม อ่อนแรง เพลีย
- มีอาการหนาว แบบหนาวสั่นสะท้านร่วมด้วย และมีอาการมากกว่า 7 วัน
- สังเกตตัวเองว่า มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเบื่ออาหารเป็นอาการสำคัญ
- การเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้ง่าย เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยโรคต่างๆ ได้แก่ โรคปอดอักเสบ และโรคสมองอักเสบ ซึ่งมักเกิดกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน โรคไต โรคเอดส์ ควรเข้าพบแพทย์ทันที เพื่อการตรวจอย่างละเอียด เมื่อทราบว่าเป็นไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่จะหายเองในผู้ที่ร่างกายแข็งแรงปกติ และสามารถดูแลตัวเอง
ที่บ้าน รวมถึงรักษาตามอาการ เช่น
- หากอ่อนเพลียให้ดื่มน้ำเกลือแร่ หรือดื่มน้ำสะอาดมากๆ เพื่อลดอุณหภูมิ
- เมื่อมีไข้สูง ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว
- รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มแอสไพริน
- นอนพักมากๆ ไม่ควรจะออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวเต็มที่จากเชื้อไข้หวัด
- หากมีน้ำมูก ให้ใช้ยาลดน้ำมูก
- หากมีเสมหะให้ใช้ยาละลายเสมหะ และยาแก้ไอ รวมถึงรับประทานอาหารอ่อน ๆ
- ควรรีบไปพบแพทย์ หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนหรืออาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว
การป้องกันไข้หวัดใหญ่ คือ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และใส่ใจดูแลตัวเองแบบง่ายๆที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ ดังนี้
- อย่าเอามือเข้าปากหรือขยี้ตา เพราะมือเป็นแหล่งสัมผัสกับเชื้อโรค
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจล ทำความสะอาดมือ
- อย่าใช้ของส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ร่วมกับผู้อื่น
- ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือเลี่ยงกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการคล้ายไข้หวัด
- สวมหน้ากากอนามัย เพื่อสุขอนามัยของตนเอง และคนรอบข้าง
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำสะอาด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- เลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่ดี เป็นเวลานาน
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยให้ฉีดกับคนกลุ่มเสี่ยง
- คนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งไวต่อการติดเชื้อ
- เด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือน – 19 ปี ที่อาจจะติดต่อได้ง่าย หากไปโรงเรียน ทำกิจกรรมอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมากๆ
- คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด ฯลฯ
- คนที่กินยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันต่างๆ
- หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ
ข้อแนะนำในการฉีดวัคซีน
ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในทุกปี เพราะเชื้อโรคมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เสมอ และหลังฉีด 2 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันจึงจะขึ้นสูง
ดังนั้นการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จึงถือว่ามีความสำคัญ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและปกป้องทุกคนในครอบครัว ทุกช่วงวัย… รู้แบบนี้แล้ว ก็เริ่มต้นป้องกันตัวเองแบบง่ายๆ เพื่อห่างไกลจากไข้หวัดใหญ่กันค่ะ
บทความโดย : โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ