ความดันโลหิตสูง สาเหตุของโรคไตเรื้อรัง

ความดันโลหิต คืออะไร
ความดันโลหิต หมายถึง แรงดันของเลือดภายในเส้นเลือดที่เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายปกติหัวใจจะต้องบีบเลือดด้วยแรงดันที่มากพอที่จะส่งเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย และเส้นเลือดต้องแข็งแรงพอที่จะทนแรงดันดังกล่าวได้
ความดันโลหิตสูงเป็นได้ทั้งสาเหตุ และเป็นผลของโรคไตเรื้อรัง
การตรวจวัดความดันโลหิตที่ถูกต้อง
การวัดความดันโลหิตวิธีมาตรฐาน ทำได้โดยหมอและพยาบาล โดยทั่วไปจะวัดที่ต้นแขน และท่านจะต้องนั่งพักก่อนการวัดนานประมาณ 5-10 นาที (การออกแรงแม้กระทั่งเดินจะทำให้ค่าความดันโลหิตสูงกว่าปกติ) รวมทั้งงดสูบบุหรี่ ดื่มสุรา น้ำชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (caffeine) ก่อนการวัด เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลทำให้ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงถ้าท่านใช้ยาใด ๆ อยู่ก็ควรแจ้งให้หมอหรือพยาบาลทราบก่อนเสมอ
หมอและพยาบาลจะใช้เครื่องวัดความดันโลหิตพันรอบต้นแขน ใช้หูฟังตรวจที่ข้อพับข้างเดี่ยวกันบีบและปล่อยลมจากลูกยางช้า ๆ จนได้ค่าความดันโลหิตที่ถูกต้อง ในปัจจุบันมีเครื่องวัดความดันโลหิตชนิดอัตโนมัติ (ดิจิตัล) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสามารถวัดความดันโลหิตได้ด้วยตนเอง แต่จะต้องได้รับการตรวจยืนยันจากหมอ และพยาบาลก่อนจะระบุว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่
รู้ได้อย่างไรว่ามีความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตที่วัดได้นั้นมี 2 ค่า ค่าบน เรียกว่า “แรงดันซิสโตลิค ( systolic blood pressure)” เป็นค่าความดันขณะหัวใจบีบตัว ส่วน ค่าล่าง เรียกว่า “แรงดันไดแอสโตลิค (diastolic blood pressure)” เป็นค่าความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว ค่าปกติอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท (มม.ปรอท) ลงไป ถ้าค่าความดันโลหิตที่วัดได้มีค่าสูงตั้งแต่ 140/90 ขึ้นไป ถือว่าผู้ป่วยมี “ความดันโลหิตสูง” ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ถ้าสงสัยหรือไม่แน่ใจว่าจะมีความดันโลหิตสูงหรือไม่ ก็ควรไปตรวจวัดความดันโลหิต สำหรับคนปกติควรจะวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตตัวบนอยู่ระหว่าง 120–139 หรือความดันโลหิตตัวล่างอยู่ระหว่าง 80–89 จัดอยู่ใน “กลุ่มเสี่ยง” ที่มีความดันโลหิตใกล้สูง ควรปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การกินอาหารเพื่อป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะมีโรคหัวใจ และเส้นเลือดแทรกซ้อนตามมา

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูงอาจเกิดจากหลายสาเหตุ
ไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ตรวจไม่พบสาเหตุ ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปมักจะตรวจไม่พบสาเหตุ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีประวัติคึวามดันโลหิตสูงในครอบครัว อ้วน ใขมันในเลือดสูง มีกรดยูริคในเลือดสูง อาจจะมีโรคเบาหวานหรือเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน
โรคไต ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตบางชนิด ไตเสื่อมหรือไตวายทั้งในระยะแรกและระยะสุดท้าย ไตไม่สามารถขับน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกายได้ น้ำและเกลือแร่สะสมมากผิดปกติทำให้ความดันโลหิตสูงได้
โรคต่อมไร้ท่อ เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดต่างๆ เป็นต้น
โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องอกตีบ ทำให้มีแรงดันเลือดที่แขนข้างหนึ่งหรือสองข้างสูงกว่าขา
อื่นๆ เช่น โรคหลอดเลือดแดงแข็งตัวมากเกินไปจากการที่มีไขมันมาพอก โรคระบบประสาทบางชนิด เป็นต้น
เมื่อผู้ป่วยความดันโลหิตสูงไปหาหมอ หมอจะต้องซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยโดยละเอียด ร่วมกับการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่สำคัญบางอย่าง เพื่อหาสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง ถ้าหากผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 40 ปี และตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน แพทย์ก็จะระบุว่าผู้ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงแบบไม่ทราบสาเหตุ ส่วนผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปีลงไป แพทย์จะต้องพยายามหาสาเหตุมากขึ้น การรักษาโรคดังกล่าวมักจะทำให้โรคความดันโลหิตสูงหายไปด้วย อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ของผู้ป่วยก็มักจะตรวจไม่พบสาเหตุอยู่ดี
การรักษาโรคความดันโลหิตสูง
การรักษาความดันโลหิตสูงแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ
การปรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการกินยา ซึ่งได้แก่
การงดกินอาหารเค็มๆ ให้พยายามกินจืดๆ หรือไม่เติมเกลือ ซีอิ๊ว น้ำปลา ในอาหารที่ปรุงแล้ว (กินเกลือแกงไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน) คนปกติที่กินเค็มเป็นประจำจะเพิ่มโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่กินเค็มจะควบคุมความดันโลหิตได้ยาก ต้องกินยามากกว่าปกติ หรือคุมความดันโลหิตให้ปกติไม่ได้
การจำกัดอาหารหวาน อาหารมัน
การลดความอ้วน และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การลดความเครียด
การกินยา
ยาลดความดันโลหิตมีหลายชนิด หมอจะต้องเป็นผู้สั่งใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน ยาทุกขนานมีผลข้างเคียงจึงต้องอยู่ในความดูแลของหมออย่างใกล้ชิดห้ามซื้อยากินเอง
จะต้องกินยาให้สม่ำเสมอและกินตามหมอสั่งเท่านั้น
จะต้องไปหาหมอตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจวัดความดันโลหิตว่าควบคุมได้ดีแล้วหรือยัง ตรวจหาโรคแทรกซ้อนเพื่อจะไดรักษาหรือป้องกันแต่เนิ่นๆ สอบถามผลข้างเคียงของยาและปรับยาให้เหมาะสมกับโรค
ความดันโลหิตสูงทำให้ไตเสื่อม
ความดันโลหิตสูง ทำให้หัวใจทำงานหนัก และในระยะยาวทำให้เส้นเลือดเสื่อมทั่วร่างกาย ได้แก่ โรคเส้นเลือดหัวใจ เส้นเลือดสมอง และเส้นเลือดที่ไตเสื่อม ทำให้มีโปรตีนในเลือดรั่วออกมาในปัสสาวะ ซึ่งตรวจพบได้โดยการตรวจปัสสาวะ ส่วนการเปลี่ยนแปลงของไตในระยะท้ายจะทำให้ไตเสื่อมลง ไตขับเกลือแร่และของเสียลดลง สารเกลือแร่ที่คั่งจะยิ่งทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นไปอีก และทำลายไตมากขึ้นเป็นวัฎจักร
มีวิธีการป้องกันไตเสื่อมจากความดันโลหิตสูงได้อย่างไร
คนที่มีโรคไตเรื้อรังควรได้รับการควบคุมความดันโบหิตให้ต่ำกว่า 130/80 มม.ปรอท สำหรับคนที่มีโอกาสเสี่ยงต่อไตวายได้แก่มีโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 1 กรัมต่อวัน ควรควบคุมความดันโลหิตให้ต่ำกว่า 125/75 มม.ปรอท ร่วมกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต
มียาลดความดันโลหิตชนิดไหนที่จะชะลอการเสื่อมของไต
ยาลดความดันโลหิตที่มีผลมากในการชะลอการเสื่อมของไตได้แก่ ยากลุ่ม “เอซีอีไอ” (CE-I ย่อมาจาก angiotensin converting enzyme inhibitors) และยากลุ่ม “เออาร์บี” (ARB ย่อมาจาก angiotensin receptor blocker) ยาทั้งสองมีผลลดความดันโลหิต ลดการรั่วของโปรตีนทางปัสสาวะและชะลอการเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวาน และโรคไตชนิดอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางก่อนได้รับยา
บทความโดย : โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ