ลุยงานหนักมาทั้งปี ตรวจสุขภาพให้ดีเพื่อตัวเอง

เพราะสุขภาพดีไม่มีขาย… อยากได้ต้องจัดให้ร่างกายเอง
ก่อนที่จะเริ่มลุยงานหนักตั้งแต่ต้นปี มาตรวจสุขภาพให้ดี ฟิตร่างกายให้พร้อม อย่าลืมว่าสุขภาพดีไม่มีขาย เริ่มต้นได้ด้วยตัว “คุณ”
ตรวจสุขภาพประจำปีสำคัญอย่างไร?
วัตถุประสงค์ของการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรคหรือภาวะต่าง ๆ ที่ยังไม่แสดงอาการออกมาเพื่อที่ว่าเราจะได้เตรียมการรับมือการรักษาโรคแต่เนิ่น ๆ อีกทั้งยังช่วยลดความรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงเมื่อทราบว่าตนเองเป็นโรคอะไรจะได้ประเมินตัวเอง เพื่อทำการรักษาให้ถูกวิธีอย่างต่อเนื่องและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกับตัวเอง
ควรตรวจคัดกรองพิจารณาจากอะไร!
การตรวจคัดกรองสุขภาพ พิจารณาจาก เพศ อายุ และโรคที่คนไทยมักเป็น หรือพบปรากฏเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้เรื่องความเสี่ยงต่างๆ เช่น พันธุกรรม พฤติกรรม รวมถึงการใช้ชีวิต ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งสำหรับการเลือกตรวจคัดกรอง อาจจะสังเกตจาก มีกรรมพันธุ์เบาหวาน มีคนในครอบครัวเกี่ยวข้องกับภาวะของโรคหัวใจ หรือมีประวัติคนในครอบครัวเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ฯลฯ

ทำไม “แพทย์” จึงแนะนำให้ตรวจสุขภาพประจำปี

แพทย์แนะนำให้ ควรตรวจสุขภาพประจำปีทุก 1 ปี และสำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ควรอย่างยิ่งและจำเป็น ต้องเข้ารับการตรวจที่บ่อยขึ้น หากเป็นโรคที่อาจจะอันตรายรุนแรงตามมา จะได้เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง
ดังนั้นการตรวจประจำปี จึงมีประโยชน์มากๆกับผู้ที่เข้ารับการตรวจเอง เพราะช่วยให้รับมือกับโรคต่าง ๆที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที และสำคัญที่สุดเป็นการช่วยเตือนตัวคุณเอง รวมถึงยังเป็นการบอกข่าวกับคนใกล้ตัว ครอบครัว เพื่อช่วยกันระมัดระวัง และใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง
ตรวจสุขภาพเบื้องต้น ตรวจอะไรบ้าง ?
โดยปกติแล้วทุกโรงพยาบาล จะมีโปรแกรมการตรวจสุขภาพพื้นฐานทั่วไป แยกตามเพศชาย หรือหญิง ให้ผู้เข้ารับการตรวจสามารถขอคำปรึกษาได้ ยกตัวอย่าง รายการการตรวจสุขภาพดังนี้
- ตรวจร่างกายพื้นฐานทั่วไป โดยแพทย์จะสอบถามประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว รวมถึงประวัติอาการต่างๆในอดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้แพทย์สามารถแยกโรคต่างๆได้ในเบื้องต้น
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) หาความผิดปกติของส่วนประกอบของเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด
- ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (FPG) และค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1C) ประเมินความเสี่ยงของโรคเบาหวาน
- ตรวจวัดระดับไขมันในเลือด เพื่อตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ รวมถึงไขมันชนิดดีและไม่ดี เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
- ตรวจวัดระดับกรดยูริก ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเก๊าท์
- ตรวจวัดการทำงานของไต โดยการตรวจเลือดเพื่อดูระดับค่าครีเอตินิน ซึ่งเป็นของเสียที่เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อ และค่า Blood Urea Nitrogen (BUN) ประเมินความสามารถในการขับของเสียของไต
- ตรวจวัดการทำงานของตับและทางเดินน้ำดี ตรวจเพื่อหาภาวะตับอักเสบ ตับเสื่อมสภาพ ภาวะดีซ่าน ตรวจดูความผิดปกติของตับ
- ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ ว่าต่อมไทรอยด์ว่าทำงานได้อย่างปกติหรือไม่
- ตรวจไวรัสตับอักเสบ ไวรัสตับอักเสบบี สามารถตรวจคัดกรองจากการติดเชื้อเบื้องต้นได้จากส่วนประกอบของเชื้อ HBsAg
- ตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HBsAb ส่วนไวรัสตับอักเสบซี สามารถตรวจคัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้นได้จาก Anti-HCV
- ตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งทางเดินอาหาร (CEA) การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับ และตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชายทุกช่วงวัย
- ตรวจปัสสาวะ วินิจฉัยโรคในระบบทางเดินปัสสาวะเบื้องต้น
- ตรวจอุจจาระ เป็นการตรวจระบบทางเดินอาหารเบื้องต้น รวมถึงการตรวจหาภาวะเลือดปนในอุจจาระ ซึ่งอาจเกิดจากแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ริดสีดวงทวาร รวมไปถึงโรคมะเร็งทางเดินอาหาร
- ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เป็นการตรวจประเมินการทำงานของหัวใจ ความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ การนำไฟฟ้าที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- เอกซเรย์ปอด ดูความผิดปกติในทรวงอก เช่น ขนาดของหัวใจ วัณโรค และโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ภายในปอด
- ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง เป็นการตรวจ เพื่อหาความผิดปกติของอวัยวะที่สำคัญในช่องท้อง เช่น ตับ ไต ตับอ่อน ม้าม เส้นเลือดใหญ่ที่อยู่ภายในช่องท้อง รวมถึงมดลูกและรังไข่ในผู้หญิง และต่อมลูกหมากในผู้ชาย
- การตรวจสุขภาพตาทั่วไป และค้นหาความเสี่ยงของภาวะต้อต่างๆ
- การตรวจพิเศษต่างๆเฉพาะจุด หากผู้เข้ารับการตรวจมีความกังวลใจ ก็สามารถปรึกษาแพทย์และพยาบาลได้
การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปี
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เป็นหวัด หรือ มีไข้
- งดอาหารและเครื่องดื่ม อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนตรวจ (สามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย)
- พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้สนิทอย่างน้อย 6 ชั่วโมง (หากพักผ่อนไม่เพียงพอจะทำให้ผลการตรวจผิดปกติได้ โดยเฉพาะค่าความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิของร่างกาย
- หากกำลังรับประทานยา เช่น ยาควบคุมความดันโลหิต สามารถรับประทานตามแพทย์แนะนำ หรือหากกังวลเรื่องยาประจำตัวต่างๆ (ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตรวจ)
- หากมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพอื่นๆ (นำผลการตรวจมาประกอบการวินิจฉัย)
- งดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนตรวจสุขภาพ (เนื่องจากแอลกอฮอล์อาจมีผลต่อการตรวจบางอย่าง)
- สตรีไม่ควรอยู่ในช่วงก่อนมีประจำเดือนและหลังมีประจำเดือน 7 วัน
(หากมีประจำเดือนควรงดตรวจปัสสาวะ เพราะเลือดจะปนเปื้อน มีผลต่อการแปลผล)
- สตรีในวัยเจริญพันธุ์ ที่อายุถึงเกณฑ์เริ่มมีความเสี่ยงมะเร็งเต้านม ควรคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการเอกซเรย์เต้านม (Mammogram)
- หากสงสัยว่าตั้งครรภ์โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่องดการตรวจเอกซเรย์ ป้องกันอันตรายจากรังสี ที่อาจจะส่งผลต่อทารกในครรภ์
- ก่อนการตรวจสุขภาพ หากมีข้อกังวลเรื่องใดก็ควรสอบถามแพทย์ – พยาบาลประจำศูนย์ตรวจสุขภาพ เพื่อผ่อนคลายจิตใจก่อนเข้ารับการตรวจ
ในปัจจุบันยังมีการ “ตรวจสุขภาพตามช่วงวัย” เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ในทุกเพศ วัย(ช่วงอายุ) เน้นการคัดกรองอย่างละเอียด หรือออกแบบให้เหมาะสมกับ “คุณ” เพื่อการดูแลร่างกายให้รู้ทันความผิดปกติต่างๆก่อนที่จะเกิดโรค นำไปสู่การป้องกัน และวางแผนการรักษาอย่างทันท่วงที
การตรวจสุขภาพประจำปี จึงเท่ากับเป็นการวางแผนสุขภาพในอนาคตล่วงหน้า หากตรวจพบเจอความเสี่ยงแล้ว เราก็จะได้นำคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มาช่วยในการป้องกันโรคต่างๆและปรับใช้ เพื่อช่วยในการรักษาสุขภาพของตนเองให้เหมาะสมต่อไป