ปวดหู เกิดจากอะไร ?

ปวดหู (Earache/Ear Pain) เป็นอาการปวดบริเวณหูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน อาจปวดในลักษณะตื้อ ๆ เจ็บแปลบ หรือรู้สึกแสบร้อน ซึ่งอาการปวดส่วนใหญ่จะอยู่ไม่นานแล้วค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายไป มักพบได้บ่อยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และปวดหูเกิดจากอะไรได้บ้าง มาไขข้อข้องใจไปกับบทความนี้กันเลยค่ะ
อาการปวดหู ?
อาการที่บ่งบอกว่าหูชั้นนอกอักเสบ คือ มีอาการคัน ระคายเคือง ปวดหู หูอื้อ หรือมีของเหลวไหลออกจากหู สิ่งที่สังเกตุเห็นคือผิวหนังของรูหูส่วนนอกจะบวมแดงเฉพาะที่ อาจเห็นเป็นหัวฝีหรือบวมทั้งหมด พบหนองที่มีกลิ่นเหม็นภายในหู เวลาเคลื่อนไหวใบหูจะมีอาการเจ็บมาก อาจพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณหน้าหรือหลังหู ในรายที่เป็นมากอาจทำให้ใบหูยื่นไปข้างหน้า กระดูกหูบวม แดง และกดเจ็บ หรือมีอาการอัมพาตของเส้นประสาทสมองบางเส้นได้
สาเหตุของอาการปวดหู เกิดจากอะไร ?
สาเหตุจากหูชั้นนอก
การติดเชื้อแบคทีเรีย จะมีอาการปวด, บวมแดงที่ใบหู ช่องหูชั้นนอกอักเสบ เกิดจากการแคะหูหรือปั่นหู น้ำเข้าหู อาการ ปวด บวมในช่องหู, มีหนองไหล (ในผู้ป่วยเบาหวานจะมีอาการรุนแรง, มีไข้สูง ต้องรีบปรึกษาแพทย์) การรักษา ยาปฏิชีวนะกินหรือฉีด, ยาหยอดหู
การติดเชื้อไวรัส เช่น เริมที่ใบหู จะมีตุ่มน้ำที่หู และปวดแสบปวดร้อน
การรักษา ให้ยากลุ่ม Acyclovia, สเตียรอยด์, ยาแก้ปวดการติดเชื้อรา จะมีอาการหูอื้อ มีน้ำไหล เเละมีอาการปวดหูได้ รักษาโดยการพบเเพทย์ทำความสะอาดช่องหูเเละใช้ยารักษาเชื้อรา
สาเหตุจากหูชั้นกลาง
การอักเสบของหูชั้นกลาง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ซึ่งมักเกิดตามหลังไข้หวัด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหู หูอื้อ ในเด็กเล็กมักใช้นิ้วมือแหย่หู ไม่ยอมให้จับหู มีไข้ และอาจมีหนองไหลจากหู ไม่ควรปล่อยให้เป็นหวัดยาวนาน รีบรักษาเมื่อมีอาการน่าสงสัยควรรีบไปพบแพทย์หู คอ จมูก
การรักษา ยาปฏิชีวนะ, ยาแก้ปวดอาการปวดหูเนื่องจากการดำน้ำ หรือนั่งเครื่องบิน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหู หูอื้อ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงความกดดันของอากาศรอบตัวกับความดันในหู (Barotrauma)
การป้องกัน เช่น อมลูกอม เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือให้ดูดขวดนมในเด็กทารกในขณะขึ้นเครื่องบิน รวมทั้งการเรียนรู้เทคนิคในการปรับความดันในหูขณะดำน้ำ
สาเหตุจากหูชั้นใน
ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหูเวลาที่ได้ยินเสียงดัง ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในหรือเส้นประสาทหูเสื่อม นอกจากนี้มักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีเสียงดังในหูหรือการได้ยินลดลง การรักษาแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์หู คอ จมูก
สาเหตุของอาการปวดหูที่ไม่ได้มาจากโรคของหู แต่มาจากอวัยวะข้างเคียง เกิดจากการปวดร้าวมาตามเส้นประสาทที่มีการเชื่อมต่อกับบริเวณของหู เช่น
ฟันผุ เหงือกอักเสบ
ต่อมทอนซิล หรือคออักเสบ
ไซนัสอักเสบ
โรคของข้อต่อกระดูกขากรรไกร
เนื้องอกทางหู คอ จมูก

การรักษาอาการปวดหู ทำได้อย่างไรบ้าง ?
ทำความสะอาดรูหู โดยใช้สำลีพันปลายไม้ หรือพลาสติก เช็ดเบาๆด้วยความนุ่มนวล หรือใช้เครื่องดูดของเหลวดูดหนอง (โดยแพทย์)
รับประทานยาต้านจุลชีพ เพื่อรักษาการติดเชื้อในช่องหูชั้นนอก ประมาณ 7-14 วัน (ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์)
ถ้ารูหูส่วนนอกบวมมาก แพทย์อาจใช้ผ้าก๊อซเล็กๆ ชุบยาสเตียรอยด์ช่วยลดบวม ใส่ไว้ใน รูหูชั้นนอกประมาณ 24 ชั่วโมง เมื่อรูหูส่วนนอกยุบลง จึงใช้ยาหยอดหูซึ่งมียาต้านจุลชีพ (ที่แพทย์สั่งให้) หยอดวันละ 3-4 ครั้ง (อ่านวิธีหยอด ในบทความเรื่อง “ยาหยอดหู”)
ถ้ามีอาการปวดมาก อาจรับประทานยาแก้ปวด เช่น paracetamol ร่วมด้วยได้
ในรายที่เป็นหูชั้นนอกอักเสบชนิดร้ายแรง แพทย์อาจรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยาต้านจุลชีพทางหลอดเลือด
การป้องกันอาการปวดหู ทำได้อย่างไรบ้าง ?
ไม่ควรพยายาม แคะ หรือเขี่ย หรือเช็ดขี้หูออก หรือทำความสะอาดหูโดยใช้ไม้พันสำลี นิ้วมือ หรือวัตถุใดๆก็ตาม
ไม่ควรล้างหูด้วยสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อบ่อยๆ
ไม่ควรซื้อยาหยอดหูมาใช้เอง เพราะอาจแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาหยอดหูได้
ผู้ป่วยที่ต้องเช็ดหู ทำความสะอาดหูทุกครั้งหลังการอาบน้ำ เนื่องจากมีน้ำเข้าไปในช่องหูแล้วเกิดความรู้สึกรำคาญ ควรใช้สำลีหรือวัสดุอุดรูหู (ear plug) (ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านกีฬา เป็นที่อุดหูสำหรับการว่ายน้ำหรือดำน้ำ) ทุกครั้งขณะอาบน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู จะได้ไม่ต้องเช็ดหูทุกครั้งหลังการอาบน้ำ
เมื่อมีอาการคันหู ไม่ควรปั่นหู โดยใช้ไม้พันสำลี นิ้วมือ หรือวัตถุใดๆก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์
อาการที่บ่งบอกว่าหูชั้นนอกอักเสบ คือ มีอาการคัน ระคายเคือง ปวดหู หูอื้อ หรือมีของเหลวไหลออกจากหู ถ้าหากมีอาการดังกล่าวต้องรักษาอาการปวดหูที่ถูกต้อง แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการปวดหู และเมื่อมีอาการปวดหู ไม่ควรแคะหู ระวังไม่ให้น้ำเข้าไปในรูหู และไม่ควรนำยาปฏิชีวนะ หรือยาที่ไม่ได้รับการแนะนำโดยแพทย์ หรือเภสัชกรนำไปทาในรูหูนะคะ
บทความโดย : คลินิกโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ