โรคไตเรื้อรังจากเบาหวาน

โรคไตเรื้อรังจากเบาหวาน เป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดกับหลอดเลือดเล็ก ๆ ส่วนที่เป็นตัวกรองของเสียในไต และเมื่อเป็นมากก็จะเกิดโรคไตวายเรื้อรังในที่สุด โดยเป็นสาเหตุของโรคไตวายเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุด พบได้ประมาณร้อยละ 30 ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และประมาณร้อยละ 10-40 ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
การแบ่งระยะของโรคไตเรื้อจากเบาหวาน
โรคไตจากเบาหวานสามารถแบ่งได้เป็น 5 ระยะ ดังนี้
เป็นระยะที่ดูเหมือนไตทำงานได้ดีขึ้น เพราะมีอัตราการกรองของเสียได้ดีขึ้น
เป็นระยะที่ตรวจพบโปรตีนปริมาณน้อยๆ รั่วมาในปัสสาวะเป็นครั้งคราว
เป็นระยะที่ตรวจพบโปรตีนปริมาณน้อยๆ รั้วในปัสสาวะตลอดเวลา
เป็นระยะที่ตรวจพบมีโปรตีนปริมาณมากรั่วในปัสสาวะตลอดเวลา และไตทำงานลดลง
เป็นระยะที่ไตทำงานลดลงมาก จนเป็นโรคไตวายเรื้อรัง

การเกิดโรคไตเรื้อรังจากเบาหวาน
เกิดจากการปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงโดยไม่ควบคุม ทำให้เลือดในไตเสื่อม เมื่อเป็นนานเข้าจะทำให้ไตผิดปกติ ดังนั้น การป้องกันโรคไตเรื้อรังจากเบาหวานคือต้องควมคุมน้ำตาลในเลือดให้ดี
ตรวจสอบได้อย่างไรว่ามีการเสื่อมของไต
วิธีที่ดีที่สุดที่จะทราบว่ามีการเสื่อมของไตหรือไม่ ทำได้โดยการตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อประเมินการทำงานของไต ทั้งนี้เพราะกว่าโรคจะแสดงอาการ ไตของผู้ป่วยก็มักจะเสียไปมากแล้วซึ่งเมื่อถึงระยะนั้นผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลีย ซีด เบื่ออาหาร หรือ อาเจียน และอาจมีอาการบวมตามร่างกาย
อนึ่ง ความผิดปกติที่ตรวจพบในระยะแรก คือ การตรวจพบโปรตีนจำนวนน้อย (microalbuminuria)โดยจะต้องตรวจพบ 2 ใน 3 ครั้งใน 6 เดือนจึงจะถือว่าผิดปกติ และ เมื่อไตเสื่อมมากขึ้นก็จะตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะด้วยวิธีการตรวจปกติตลอดเวลาร่วมกับการตรวจพบของเสียในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
การป้องกันโรคไตจากเบาหวานทำได้อย่างไร
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุดโดยดูได้จาก
ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารให้อยู่ในช่วง 90-130 มก.%
ระดับน้ำตาลเฉลี่ยซึ่งเรียกว่า “เอวันซี” ไม่ควรเกินกว่า 7%
ควบคุมความดันโลหิตไม่ให้เกินกว่า 130/80 มม.ปรอท
การใช้ยาลดความดันโลหิตบางชนิดที่สามารถชะลอไตเสื่อมได้ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางก่อนได้รับยา
ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และนักโภชนากร เพื่อช่วยควบคุมเบาหวานและความดันโลหิต ยังช่วยชะลอการเสื่อมของไตในรายที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต เช่น การจำกัดอาหารโปรตีน
ตรวจการทำงานของไต โดยการตรวจเลือดและปัสสาวะอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
เมื่อมีอาการเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ เช่นปัสสาวะบ่อย แสบขัด ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเป็นเลือดควรรีบปรึกษาแพทย์
หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจมีผลเสียต่อไต ดังนั้นการใช้ยาต่าง ๆ จึงควรปรึกษาแพทย์
โดยสรุป วิธีการที่จะหลีกเลี่ยงการเกิดโรคไตเรื้อรังจากเบาหวาน คือ ดูแลตนเองตามวิธีที่แพทย์พยาบาลแนะนำ รับประทานยา หรือฉีดยาตามที่ได้รับ และมารับการตรวจเป็นประจำตามนัด
บทความโดย : โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ