"เด็กขยี้ตาบ่อย" ใช่สายตาเอียงหรือไม่

คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตไหมว่า?
- เด็กขยี้ตาบ่อย เพื่อลองมองหามุมโฟกัส ที่ชัดเจนที่สุด
- เด็กหรี่ตา หรือหยีตา เพื่อจ้องมองวัตถุต่างๆ
- เด็กมักเอียงหน้า หรือตะแคงคอมอง
- เด็กมักมีอาการปวดตา ตาล้า
หากพบว่า ลูกของคุณมีอาการดังกล่าว อย่าปล่อยไว้! ควรนำมาพบจักษุแพทย์ เพื่อการตรวจประเมินด้านสายตา เพราะอาจจะเข้าข่ายของเด็กที่มีภาวะสายตาเอียงก็เป็นได้
เมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียน คุณพ่อคุณแม่จะเห็นได้ว่า ลูกเริ่มมีการใช้สายตาเยอะขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ เขียนหนังสือต่างๆ หรือการที่ลูกมีพฤติกรรมที่แสดงออก อันเนื่องมาจากความผิดปกติทางสายตา เช่น เอียงคอมองทีวี หรือเหล่ตาข้างใดข้างหนึ่ง เวลาทำกิจกรรมต่างๆค่อนข้างมาก
อาการดังกล่าว อาจจะเป็นอาการเริ่มต้นของ “สายตาเอียงในเด็ก” เราจะมาลองสังเกตความผิดปกติ เพื่อพาเด็กไปพบจักษุแพทย์ต่อไป
สายตาเอียงเกิดจากอะไร?
การที่เด็กมีกระจกตา ที่มีความโค้งไม่เท่ากัน ส่งผลให้ภาพมีองศาที่ไม่ถูกต้องหรือมัว ดังนั้นภาพที่เด็กเห็นจะไม่ชัดเจน เพราะเกิดขึ้นจากความผิดปกติของกระจกตา
การที่ดวงตามีการหักเหของแสงแตกต่างไปจากเดิม ส่งผลให้เด็กปวดตา ปวดหัว และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสายตานั้นเอง

การสังเกตอาการสายตาเอียง
ผู้ปกครองควรพาเด็กไปรับการตรวจ-ประเมิน จากแพทย์เฉพาะทางด้านโรคตา ช่วยหาวิธีการแก้ไขสายตาให้กลับมาเป็นปกติ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็ก ในการเรียนรู้และการทำกิจกรรมต่างๆจะได้กลับมาสมบูรณ์
- หากสงสัยว่า เด็กเริ่มมีอาการสายตาเอียง เช่น เด็กมักพูดหรือบอกว่า มองภาพไม่ชัดเจน เมื่อยล้าตา หรือปวดศีรษะบ่อยๆ คุณพ่อและแม่ควรพาไปพบจักษุแพทย์
- ช่วยควรระมัดระวังในการเล่นโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อป้องกันการใช้สายตาที่มากเกินไป
- สังเกตพฤติกรรมและการจัดท่าทางที่ถูกต้อง เพราะท่าทางที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่จำกัดเวลาในการใช้สื่อต่างๆ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสายตาได้โดยตรง และส่งผลให้สายตาเอียงในที่สุด
การเตรียมตัวก่อนวัดสายตาในเด็ก
1.เด็กควรมีร่างกายที่แข็งแรง ไม่มีไข้ ร่างกายปกติ (ควรเลือกมาตรวจในวันที่ไม่มีการสอบหรือการเรียนที่ต้องใช้สายตามาก เพราะยาจะทำให้มองที่ใกล้ไม่ชัดประมาณ 1 วัน และกระทบต่อการใช้ชีวิตของเด็ก)
2.การหยอดยา เพื่อวัดสายตาทำทุก 5 ถึง 10 นาที 2 ถึง 3 ครั้ง ทั้งสองตาจากนั้นรอประมาณ 30 นาทีก็จะสามารถตรวจได้ (ในระหว่างหยอดยาเด็กอาจงอแง ร้องไห้ เนื่องจากยาหยอดตาแสบ)
3.ผู้ปกครองควรช่วยดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการผลัดตก หกล้ม ควรเตรียมแว่นตาดำหรือหมวกมาด้วย หลังการตรวจม่านตา ตาจะขยาย (อาจมีการแพ้แสงประมาณ 1 วัน) ทำให้มองไม่ชัด
4.หลังตรวจตาเรียบร้อย ควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง เน้นพักผ่อนในบ้าน ไม่ควรโดนแสงไฟสว่างมากๆ ควรให้เด็กนอนหลับ เพื่อพักสายตาให้กลับมาเป็นปกติก่อน
การวัดสายตาในเด็ก
โดยธรรมชาติของเด็กจะชอบการเพ่งมอง หรือจ้องวัตถุต่างๆ ที่เป็นสีสัน หรือภาพเคลื่อนไหว ผู้ปกครองจึงต้องช่วยในการระงับหรือหยุดการเพ่งของเด็กชั่วคราว และเปลี่ยนความสนใจไปทำกิจกรรมอื่นๆแทน วิธีการวัดสายตาที่เป็นมาตรฐานก็คือ การหยอดยา เพื่อลดการเพ่ง แล้วจักษุแพทย์ก็จะทำการวัดสายตา ทำให้ทราบค่าสายตาจริงๆของเด็ก
หลังจากตรวจวัดสายตา
จักษุแพทย์วินิจฉัย ความผิดปกติของสายตา หากเกิดความผิดปกติขึ้นจะทำการสั่งแว่นตาตามความเหมาะสม นัดตรวจติดตามเป็นระยะเนื่อง จากค่าสายตาในเด็กมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด
โดยทั่วไปจะมีกำหนดตรวจสายตาปีละ 1 ครั้ง (จนอายุ 12 ปี) ก็จะสามารถวัดสายตาได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เนื่องจากการเพ่งลดลงและใกล้เคียงผู้ใหญ่
เด็กแต่ละคนอาจจะมีความผิดปกติทางด้านสายตาแฝงอยู่ และอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสายตาต่างๆได้แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น ยาว หรือเอียง
ผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตพฤติกรรม และหากพบความผิดปกติ ก็ควรพาเด็กเข้ารับการรักษา เพื่อสุขภาพดวงตาที่ดีของเด็ก และป้องกันการเกิด
โรคทางตาในอนาคตต่อไป
บทความโดย : โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ