ท่านั่งกับอาการปวดหลัง ปัญหาคาใจพนักงานออฟฟิศ

อาการ “ปวดหลัง” ไม่ใช่อาการที่ถูกจำกัดไว้แค่กับกลุ่มผู้สูงอายุอีกต่อไป เนื่องจากปัจจุบัน การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นับเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ทำกัน การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานและไม่ได้ลุกยืนยืดเส้นยืดสายนี้เอง ที่มีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการปวดหลัง หรือหนักไปกว่านั้นคือนำไปสู่โรคยอดฮิตอย่าง “ออฟฟิศซินโดรม” อีกด้วย โดยวันนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับ ท่านั่งยอดฮิตที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง มีท่าไหน และคุณนั่งท่าดังกล่าวเป็นประจำหรือไม่ มาดูกัน!
1. การนั่งเก้าอี้แบบไม่เต็มก้น หรือหลังไม่ชิดพนัก
หลายคนอาจสงสัยว่าการนั่งเก้าอี้แบบไม่เต็มก้นสามารถส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังได้อย่างไร ในเมื่อมันก็เป็นท่านั่งที่ค่อนข้างสบาย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนั่งในบริบทนั้นไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง กล้ามเนื้อจะเริ่มทำงานหนักเนื่องจากฐานรองรับน้ำหนักตัวนั้นไม่สมดุล ส่งผลให้เกิดการปวดได้
2. การนั่งหลังค่อมหรือหลังงอ
แน่นอนว่าเราอาจจะเผลอลืมสังเกตว่าเราไม่ได้นั่งพิงพนักเก้าอี้ หรือนั่งหลังตรงตลอดเวลา จะต้องมีบางช่วงเวลาที่เราเผลอนั่งหลังค่อม ซึ่งถ้าเราเผลอนั่งท่านี้เป็นชั่วโมง ๆ ก็อาจจะส่งผลให้กล้ามเนื้อมีอาการเกร็งค้างพร้อมกับหลั่งกรดแลคติก ซึ่งจะทำให้ความแข็งแรงกับความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อลดลง ซึ่งทำให้เกิดอาการเมื่อยได้ และหากทิ้งไว้นาน ๆ อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระดูกต้นคอหรือกระดูกสันหลังผิดรูป
3. การนั่งห่อตัวหรือนั่งกอดอก
การนั่งในบริบทนี้จะทำให้หัวไหล่ สะบัก และแผ่นหลังช่วงบนของร่างกายถูกยืดออก เมื่อแผ่นหลังช่วงบนค่อมแล้วงุ้มไปด้านหน้าจะทำให้กระดูกคอยื่นออกไปด้านหน้าเช่นกัน และการยื่นของกระดูกคอนี้มีผลต่อเส้นประสาทที่ไม่ไปหล่อเลี้ยงแขน หากนั่งท่านี้ตลอดเวลา นานวันเข้า ก็จะเกิดอาการชาและมือมีอาการอ่อนแรงได้ ถึงแม้จะไม่ส่งผลต่อการปวดหลังโดยตรง แต่ท่านั่งนี้ก็ค่อนข้างไม่ดีต่อสุขภาพเช่นกัน
4. การนั่งไขว่ห้าง
ท่านั่งยอดฮิตของทุกเพศทุกวัยที่อาจก่อให้เกิดอาการปวดหลังได้อย่างไม่ทันรู้ตัว โดยการนั่งท่านี้ทำให้ขาข้างหนึ่งของเราถูกกดทับด้วยน้ำหนักตัว พอนั่งไปนาน ๆ ก็อาจส่งผลให้กระดูกสันหลังคด กระดูกสันหลังเกิดการผิดรูป คดงอ ไปจนถึงหมอนรองกระดูกเสื่อม อันเป็นโรคต้นเหตุที่แน่นอนว่ามาพร้อมกับอาการปวดหลังอย่างเลี่ยงไม่ได้
รู้อย่างนี้แล้ว หากใครที่คุ้นชินกับการนั่งท่าเหล่านี้ อาจเริ่มต้นด้วยการพยายามเลี่ยงและนั่งในบริบทที่สบายและดีต่อสุขภาพ และควรลุกยืนยืดเส้นยืดสายอย่างน้อยซัก 5-10 นาทีต่อชั่วโมง และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อกล้ามเนื้อที่แข็งแรง