
โรคไข้เลือดออก HAEMORRHAGIC FEVER
ในปัจจุบันนับว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดเชื้อที่นำโดยยุงลายที่มีความสำคัญมากที่สุดโดยพิจารณาจากทางสาธารณสุขที่มีผู้ป่วยในแต่ละปีเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และทางด้านการแพทย์ผู้ป่วยอาจจะมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยและการดูและอย่างถูกต้อง
การระบาดวิทยา
ไข้เลือดออก (ไวรัสแดงกี่ )มี 4 ชนิด เมื่อมีการติดเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดนั้นอย่างถาวรตลอดชีวิตแต่จะมีภูมิคุ้มกันไวรัสแดงกี่อีก 3 ชนิด ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 6-12 เดือน ดังนั้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีไวรัสแดงกี่ชุกชุมอาจจะมีการติดเชื้อ 3 – 4 ครั้งได้เพราะส่วนใหญ่ประมาณ 80 – 90 % ของผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกทีการติดเชื้อซ้ำ
การแพร่กระจาย
การแพร่กระจายโดยแพร่จากคนหนึ่งสู่คนหนึ่งโดยมียุงลายตัวเมีย (ที่หากินในเวลากลางวัน)เป็นตัวสำคัญโดยยุงลายตัวเมีย จะดูดเลือดคนที่มีเชื้อไวรัสแดงกี่อยู่ในกระแสเลือด (ช่วงที่มีไข้สูง) เชื้อไวรัสอยู่ในยุงนาน 30 – 45 วัน การแพร่เชื้อจะเป็นลูกโซ่ ถ้ามียุงหรือคนที่มีเชื้ออยู่ในชุมชนคนอยู่หนาแน่น
ยุงลาย
มีขนาดเล็ก สีขาวสบับดำ แหล่งเพาะพันธุ์คือภาวะน้ำขังเกิน 7 วัน โดยเป็นน้ำใสและนิ่ง โดยยุงลายตัวเมียหลังดูดเลือดคน จะวางไข่ตามผิวในภาชนะเหนือระดับน้ำเล็กน้อย
การป้องกัน
กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ใส่ทรายอะเบททำลายลูกน้ำใช้ยาฆ่าแมลง
ทายากันยุง และหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงลายกันเวลากลางวัน
เปลี่ยนน้ำที่แช่ขังทุก 7 วัน หรือใส่ปลาหางนกยูงในบ่อน้ำเพื่อกินลูกนน้ำหรือใส่เกลือในน้ำ
ปกปิดภาชนะเก็นน้ำด้วยฝาอย่างมิดชิด
ทำลายไข่ยุงโดยขัดล้างตามผิวภาชนะต่าง ๆ ทุกสัปดาห์
การติดเชื้อไวรัสแดงกี่
กลุ่มอาการไวรัส มักพบในทารกหรือเด็กเล็ก จะปรากฏไข้สูง 2 – 3 วัน บางครั้งอาจมีผื่น มีอาการคล้ายคลึงกับโรคที่เกิดจากไวรัสอื่น ๆ
ไข้แดงกี่ เกิดกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่ อาการไม่รุนแรงมีเพียงอาการไข้ร่วมกับปวดศีรษะ เมื่อยตัว อาจมีไข้สูงกะทันหันปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดกระดูก มีผื่นอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง
ไข้เลือดออก มีอาการเหมือนไข้แดงกี่ รวมกับ
ไข้สูงลอย 2 – 7 วัน
มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่พบที่ผิวหนัง
มีตับโต กดเจ็บ
มีภาวะช็อก
การดำเนินของโรค
ระยะไข้
ไข้สูงเกิน 38.5 C อาจถึง 40 – 41 C อาจเกิดอาการชักได้ในเด็กเล็ก อาจมีหน้าแดง คอแดง แต่ส่วนใหญ่ไม่มีน้ำมูกไหล หรืออาการไอ เด็กโตบ่นปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา เบื่ออาหาร อาเจียนปวดท้อง ปวดชายโครงขวาส่วนใหญ่ไข้สูงลอย 2-7 วัน มีผื่น อาการเลือดออกโดยตรวจพบมีเส้นเลือดเปราะ แตกง่ายมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ กระจายตามแขนขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟันมีอาเจียน และถ่ายเป็นเลือดสีดำ ตับโตได้
ระยะวิกฤต / ช็อก
ส่วนใหญ่เกิดพร้อมกับไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว มีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันแคบปวดท้องกะทันหัน ก่อนเข้าสู่ภาวะช็อก ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวดีพูดรู้เรื้อง อาจบ่นกระหายน้ำ
ระยะพื้นตัว
จะพื้นตัวเร็วมาก ความดันเลือดปกติ ชีพจรจะช้าและแรงขึ้น ปัสสาวะมากขึ้น อยากรับประทานอาหารระยะเวลาทั้งหมดของไข้เลือดออกจะเป็นอยู่ประมาณ 7-10 วัน
การดูแลรักษา
ระยะไข้สูง บางรายอาจมีอาการชักได้ หากจำเป็นต้องให้ยา ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ แอสไพริน เพราะทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ อาจทำให้เลือดออกง่าย ควรเช็ดตัวลดไข้โดยใช้น้ำอุ่น
ถ้ามีอาการไข้เกิน 3 วัน ให้แนะนำพามาพบแพทย์
ให้อาหารอ่อน ย่อยง่าย ถ้าทานได้น้อยให้ดื่มนม น้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่ครั้งละน้อย ๆ บ่อย ๆ ควรงดอาหารหรือน้ำที่มีสีแดงหรือดำ ( เพราะจะสังเกตอาเจียนที่เป็นเลือดออกไม่ได้ )
ติดตามดูแลอาการอย่างใกล้ชิด ให้ผู้ปกครองสังเกตอาการต่อไปนี้ นำมาโรงพยาบาลโดยด่วน
2.1 อาการแย่ลงเมื่อไข้ลด
2.2 เลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล ถ่ายเป็นเลือด
2.3 อาเจียนมาก ปวดท้องมาก
2.4 กระหายน้ำตลอดเวลา ไม่ดื่มน้ำ
2.5 ซึม
2.6 มีอาการช็อก
– มือเท้าเย็น
– กระสับกระส่าย ร้องกวนมากในเด็กเล็ก
– ตัวเย็น เหงื่อออก ตัวลาย
– ปัสสาวะน้อย
2.7 ความประพฤติเปลี่ยนแปลง เช่น พูดไม่รู้เรื่อง เพ้อ เอะอะโวยวาย




บทความโดย : คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาได้ที่ Call Center 02-080-5999 หรือ LINE : @psuv
หากคุณต้องการนัดหมายแพทย์ เพื่อทำการปรึกษา
สามารถติดต่อสอบถามเราได้ที่นี่
เรายินดีให้บริการคุณตลอด 24 ชั่วโมง
เบอร์โทรศัพท์ (+66)02 0805999