
การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI คือเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ใช้ในการตรวจวินิจฉัยรอยโรคของผู้ป่วย เพื่อนำมาใช้ในการรักษาและติดตามผลการรักษา
เครื่อง MRI จะเป็นเทคโนโลยีทันสมัย ในปัจจุบันมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นการตรวจวินิจฉัยที่ให้ความถูกต้องและแม่นยำสูง เนื่องจากให้ความแตกต่างของเนื้อเยื่อได้ดี ทำได้หลายระนาบ สามารถใช้ตรวจได้ทุกระบบของร่างกาย
ลักษณะการใช้งานกับผู้ป่วย
ในการตรวจด้วยเครื่อง MRI ผู้ป่วยต้องเข้าไปนอนในเครื่อง ลักษณะคล้ายอุโมงค์ ซึ่งจะมีความกว้างประมาณ 70 เซนติเมตร ผู้ป่วยต้องนอนในอุโมงค์อย่างน้อย 30 นาที ถึงชั่วโมง ขึ้นกับระบบอวัยวะที่ต้องการตรวจ การตรวจจะแบ่งเป็นชุดๆ ในแต่ละชุดใช้เวลานาน 3-5 นาที ผู้ป่วยจะต้องมีการกลั้นหายใจ ในแต่ละชุดประมาณ 15-20 วินาที และจะต้องมีการเตรียมตัวเฉพาะและการงดรับประทานยาประจำบางชนิด ก่อนเข้ารับการตรวจ โดยเจ้าหน้าที่จะแจ้งขั้นตอนในวันที่มานัดตรวจ
ข้อควรปฏิบัติตนก่อนเข้ารับตรวจ MRI
ระบบอวัยวะที่สามารถตรวจได้
- ระบบสมอง
- ระบบไขสันหลัง
- ระบบช่องท้อง
- ระบบกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อ
- ระบบหลอดเลือดดำและแดง
การปฏิบัติตนก่อนเข้ารับการตรวจ
- เนื่องจากเป็นการตรวจที่ไม่เจ็บปวด ท่านเพียงแต่ทำใจให้สงบ นอนให้สบาย ไม่ต้องกลัว
- ในขณะที่เครื่องทำงานจะมีเสียงดัง กรุณาอย่าตกใจ
- ในขณะที่ท่านทำการตรวจอยู่ในเครื่องจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลท่านตลอดเวลา ถ้ามีปัญหาขัดข้องอะไรท่านสามารถบอกได้โดยผ่านไมโครโฟนที่อยู่ภายในเครื่อง
- เนื่องเป็นการตรวจที่ละเอียดจึงใช้เวลาค่อนข้างนานในการตรวจแต่ละชุด ท่านต้องนอนให้นิ่งที่สุด ไม่เช่นนั้นจะทำให้ภาพไม่ชัดเจน อาจทำให้การวินิจฉัยไม่แม่นยำได้ หรอต้องตรวจใหม่
- เจ้าหน้าที่จะทำการอธิบายอีกครั้งก่อนเข้ารับการตรวจ หากมีข้อสงสัยให้ถามเจ้าหน้าที่ได้
- ถ้าท่านเกิดการกังวลใจ กลัวที่จะอยู่คนเดียวในห้องหรือกลัวที่แคบ โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเข้ารับการตรวจ สามารถให้ญาตินั่งเป็นเพื่อนได้โดยไม่มีอันตรายใดๆ
- หลีกเลี่ยงการแต่งหน้า เนื่องจากเครื่องสำอางบางชนิดมีส่วนผสมของโลหะทำให้เกิดภาพบิดเบี้ยวได้ (Distortion)
ข้อควรระมัดระวังและสิ่งพึงปฏิบัติ
ก่อนเข้ารับการตรวจ MRI ตรวจดูว่าร่างกายมีสิ่งต้องห้ามอะไรดังต่อไปนี้บ้าง
- สิ่งที่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่
- เครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker)
- ผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัด Clips หรือโลหะต่างๆ
- ผู้ป่วยที่มีสิ่งแปลกปลอมหรือโลหะอยู่ในร่างกาย เช่น เคยถูกยิงมีกระสุนค้างอยู่ตามร่างกาย
- สิ่งที่ต้องฝากญาติหรือใส่ไว้ในตู้เก็บของ
- เครื่องประดับต่างๆ เช่น นาฬิกา สร้อย ต่างหู กิ๊บ เข็มกลัดติดเสื้อ เป็นต้น
- ฟันปลอม เครื่องช่วยหูฟัง
- บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม บัตรที่มีแถบแม่เหล็กทั้งหมด
- สิ่งของที่เป็นโลหะ เช่น กุญแจ คลิป ปากกา เป็นต้น
- วิทยุติดตามตัว โทรศัพท์มือถือ
ขั้นตอนการตรวจ
- คนไข้ลงทะเบียนเข้ารับบริการ เซ็นเอกสารใบยินยอมรับการตรวจ และเอกสารใบยินยอมรับการฉีดสารเพิ่มความแตกต่างของเนื้อเยื่อ
- เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดตรวจโรงพยาบาล และเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยเนื่องจากใช้เวลาในการตรวจนาน
- รอเจ้าหน้าที่เรียกชื่อเข้ารับกรตรวจ
- เจ้าหน้าที่ทวนสอบชื่อ-นามสกุล แจ้งส่วนที่ตรวจ พร้อมซักถามประวัติ และพาคนไข้เข้าห้องตรวจ
- เจ้าหน้าที่ทำการจัดท่าการตรวจ
- เจ้าหน้าที่ทำการตรวจอวัยวะแต่ละระบบตามใบสั่งการตรวจของแพทย์จะใช้เวลาที่แตกต่างกัน มีการตรวจในหลายระบบนาบและหลายชุด เวลาที่ใช้ในการตรวจแต่ละชุด ประมาณ 5-10 นาที จำนวนชุดที่ตรวจแล้วแต่ละลอยโรคที่สงสัย
- เมื่อการตรวจเสร็จสิ้น และหลังจากที่ท่านเปลี่ยนเสื้อผ้าเรียบร้อยแล้ว ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์
บุคคลที่ห้ามเข้า MRI
- บุคคลที่ผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจให้เป็นจังหวะ
- บุคคลที่ผ่าตัดติดคลิปอุดหลอดโลหิต (Aneurysm Clips)
- บุคคลที่ผ่าตัดฝังอวัยวะเทียมภายในหู (Ear Implants)
- บุคคลที่มีโลหะต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น ข้อเทียมต่างๆ, โลหะดามกระดูก, กระสุนปืน เป็นต้น
- สตรีมีครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการยืนยันว่าการตรวจนี้จะทำอันตรายต่อเด็กหรือไม่
สารเพิ่มความแตกต่างของเนื้อเยื่อที่ (Contrast Media)
สำหรับการตรวจ MRI โดยทั่วไปจะใช้สารที่มีชื่อว่า แกโดลิเนียม (Gadolinium) เป็นสารที่เพิ่มความแตกต่างของเนื้อเยื่อ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพรวมถึงรายละเอียดของภาพให้ดียิ่งขึ้น สารนี้หลังจากฉีดเข้าร่างกายจะถูกขับออกทางปัสสาวะเกือบหมดภายใน 24 ขั่วโมง เป็นสารคนละชนิดกับสารทึบรังสีที่ใช้ในการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
การฉีดสารเพิ่มความแตกต่าง
การฉีดทุกครั้งจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของรังสีแพทย์ ซึ่งปริมาณที่ใช้ 0.2 cc. ต่อน้ำหนักผู้ป่วย 1 กิโลกรัม โดยฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ
อาการข้างเคียง
เนื่องจากสารเพิ่มความแตกต่างของเนื้อเยื่อนี้จะใช้ในปริมาณที่น้อย ดังนั้นโอกาสของผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นพบได้น้อยมาก อาการข้างเคียงขั้นต้นที่อาจพบได้หลังการฉีดสาร ได้แก่ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง และอาการคันตามร่างกาย ซึ่งอาการเหล่านี้รังสีแพทย์และบุคลากรทางรังสีได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดีจะคอยดูแลท่านและช่วยเหลือแก้ไขอาการขั้นต้น อาการข้างเคียงขั้นรุนแรงอาจถึงชีวิตนั้นพบได้น้อยมากๆ





บทความโดย : ศูนย์เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาได้ที่ Call Center 02-080-5999 หรือ LINE : @psuv